แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยเชิงสำรวจ และการทำโพล

กิตติพงศ์  อิ่มประคองศิลป์ และ ทรงพล กิจเสถียรพงศ์

ผู้เรียบเรียง

การศึกษาแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจโพล โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • คำนิยามที่เกี่ยวข้องกับโพล
  • ทฤษฎี หลักการ แนวคิดเกี่ยวกับการทำโพล
  • ข้อมูลที่จำเป็นในการดำเนินการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ (โพลสาธารณะ) หรือในประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจ
  • ประโยชน์ และข้อจำกัดของทำโพล
  • สรุปงานวิจัยและบทความที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ (โพลสาธารณะ) หรือในประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจ

คำนิยามที่เกี่ยวข้องกับโพล

          การสำรวจความคิดเห็น หรือสาธารณชนมติ (Public opinion) ในเรื่องเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยทำการสุ่มสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หรือบางส่วน เรียกว่าโพลความคิดเห็น (Opinion poll) หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า โพล (Poll) การทำโพล อาจเป็นการสำรวจความคิดเห็น ความเชื่อ เจตคติ หรือพฤติกรรมทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ หรือการเมืองของสาธารณชน การที่จะได้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความคิดเห็น หรือท่าทีทั่วไปของสาธารณชนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างถูกต้อง ผู้สำรวจจะต้องมีการกำหนดประเด็นเรื่องที่ต้องการสำรวจอย่างชัดเจน มีการสุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนประชากร มีการซักถามด้วยคำถามที่มีความเป็นกลาง ตลอดจนมีการวิเคราะห์ข้อมูลและการรายงานผลอย่างมีประสิทธิภาพ คือจะต้องทำการวิจัยเชิงสำรวจอย่างมีมาตรฐานนั่นเอง[1]  โดยมีผู้ที่ให้ความหมายของ โพล ดังนี้

  • การสำรวจสาธารณมติ (Public Opinion Poll) เป็นกระบวนการในการจัดการกับความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มหนึ่งอย่างเป็นระบบแล้วนำความคิดเห็นที่ “กลั่น”ออกมาจากใจที่แท้จริงของประชาชนออกมาเผยแพร่สู่สาธารณะ (สุขุม เฉลยทรัพย์, 2553)
  • การสำรวจความคิดเห็น หรือท่าทีของสาธารณชน (Public opinion) ในเรื่องเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยทำการสุ่มสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หรือบางส่วน (ศิริชัย กาญจนวาสี, 2556)
  • การสำรวจสาธารณมติเป็นวิธีการที่ทำให้ทราบความคิดเห็นโดยรวมของสาธารณชนในสังคมต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันปะปนกันอยู่บ้าง (ณัฐพล แย้มฉิม, 2558)

การทำโพลมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อทราบและเผยแพร่สถานการณ์เกี่ยวกับเรื่องที่สนใจและการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหว เช่น ประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ให้สาธารณชนทราบและเพื่อใช้ตัดสินใจดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการได้เสียประโยชน์ของสาธารณชน โดยผู้ที่ทำหน้าที่ออกแบบการศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูล และรายงานผลการทำโพลนั้น ควรจะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับประเด็นที่ทำการศึกษา เช่น สถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐ สำนักงานสถิติแห่งชาติ รัฐวิสาหกิจต่าง ๆ หรือ หน่วยงานเอกชน เป็นต้น[2]

ทฤษฎี หลักการ แนวคิดเกี่ยวกับการทำโพล

การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research)

การวิจัยเชิงสำรวจ เป็นกระบวนการแสวงหาสารสนเทศเกี่ยวกับ ความคิด ความเห็น ความรู้สึก ความเชื่อ เจตคติ หรือพฤติกรรมการกระทำของสาธารณชนต่อปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นแล้วหรือยังไม่เกิดขึ้นก็ได้ โดยใช้วิธีการสำรวจ สอบถาม เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติเพื่อสรุปผลการสำรวจเรื่องหรือประเด็นที่ทำการสำรวจอาจเป็นเรื่องทั่วไปในแนวกว้างๆ หรืออาจเป็นประเด็นเฉพาะในแนวลึกก็ได้ ซึ่งโดยปกตินักวิชาการไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยา นักสังคมวิทยา                       นักพฤติกรรมศาสตร์ นักการศึกษา ต่างก็ใช้การวิจัยเชิงสำรวจสำหรับศึกษาความคิดเห็นหรือท่าทีของสาธารณชนต่อประเด็นที่สนใจ นักวิจัยต้องใช้ชุดของคำถามที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่สนใจ เพื่อวัดความคิด ความเชื่อ เจตคติ พฤติกรรม หรือคุณลักษณะของกลุ่มตัวอย่างหรือประชากรเป้าหมายของการสำรวจ

ความคิด (Thought) เป็นกระบวนการทางสมองที่เกิดจากการรับรู้สิ่งเร้า การมีปฏิสัมพันธ์ตอบสนองต่อสิ่งเร้าจนเกิดผลผลิตเป็นความคิด ซึ่งสามารถแสดงออกมาเป็นคำพูด ข้อเขียน หรือการแสดงพฤติกรรม

ความเชื่อ (Beliefs) เป็นความคิดเห็นที่บ่งบอกถึงสิ่งที่บุคคลคิด (Think) และยอมรับตามความคิดของตน

เจตคติ (Attitude) เป็นความคิดเห็นที่บ่งบอกถึงสิ่งที่บุคคลเชื่อ (Belief) และความต้องการแสดงพฤติกรรมตามความเชื่อ

 พฤติกรรม (Behaviors) เป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่สามารถสังเกตได้จากสิ่งที่บุคคลกระทำ (Do)

 คุณลักษณะ (Attributes) เป็นลักษณะของพฤติกรรมเชิงประจักษ์ที่ใช้บรรยายบุคลิกที่บุคคลเป็นอยู่ (Being)

“จุดเด่นของการวิจัยเชิงสำรวจอยู่ที่การศึกษา/เก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง (ส่วนย่อย) แล้วสามารถสรุปโยงหาคำตอบในประชากร (ส่วนรวม) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ข้อจำกัด คือ ผลการศึกษาอาจผิดพลาด ลำเอียงได้ เนื่องจากปัญหาของการสุ่มตัวอย่าง ปัญหาการขาดหายไปของกลุ่มตัวอย่าง และปัญหาการควบคุมคุณภาพของการสำรวจ

ข้อมูลที่จำเป็นในการดำเนินการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ (โพลสาธารณะ) หรือในประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจ” มีข้อมูลที่จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเพื่อนำมาใช้ ได้แก่

  • เทคนิคการสุ่มตัวอย่างที่เหมาะสม สำนักโพลจะต้องใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างโดยอาศัยหลักความน่าจะเป็นอย่างเหมาะสม กระทำอย่างมีหลักเกณฑ์และรอบคอบ จะช่วยหลีกเลี่ยงจากกลุ่มตัวอย่างจัดตั้ง ซึ่งมักจะแฝงความลำเอียง ตลอดจนจำนวนกลุ่มตัวอย่างจะต้องมีขนาดที่ใหญ่เพียงพอ
  • ลักษณะของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ สำนักโพลอาจใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างที่มีความน่าเชื่อถือแตกต่างกัน จากกลุ่มตัวอย่างผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่สุ่มได้ยังอาจมีลักษณะแตกต่างกันตามแนวโน้มของการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สำหรับกลุ่มที่ตั้งใจจะไปใช้สิทธิ์กับกลุ่มที่ตั้งใจจะไม่ไปใช้สิทธิ์ คำตอบที่ได้จะมีน้ำหนักของการทำนายผลล่วงหน้าได้แตกต่างกัน ในการสำรวจจึงต้องมีความชัดเจนว่าจะต้องใช้คำถามลักษณะใด รวมทั้งการรายงานผลที่ะต้องจำแนกระหว่างผู้ตอบสองกลุ่มดังกล่าว
  • การจัดลำดับของคำถาม การใช้คำถามว่าจะเลือกผู้สมัครคนใดจากพรรคไหน การจัดลำดับคำถามไว้ตอนต้นของการสนทนา หรือวางคำถามไว้ตอนท้ายๆ ของการสนทนา อาจจะมีผลต่อคำตอบที่ได้รับแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาวะของผู้ตอบที่พร้อมจะให้ความร่วมมือและเปิดเผยการตัดสินใจของตนเองตามความเป็นจริงเพียงใด ถ้าผู้ตอบให้ความร่วมมือและมีความเชื่อใจผู้สัมภาษณ์ ก็จะได้คำตอบตามความเป็นจริง แต่ถ้าผู้ตอบไม่ให้ความร่วมมือและไม่วางใจ ก็จะเกิดปัญหาของการไม่ตั้งใจตอบ หรือตอบตามกระแสสังคม หรืออาจบิดเบือนคำตอบก็เป็นไปได้เช่นกัน
  • ความแปรผันของการตัดสินใจ การตัดสินใจสามารถแปรเปลี่ยนไปได้ตามช่วงเวลาและสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับข้อมูลข่าวสารได้รับและความเชื่อที่มีอยู่ ในการสำรวจจึงต้องมีการระบุให้ชัดเจตถึงการจำแนกผู้ตอบที่มีการตัดสินใจแล้ว กับผู้ตอบที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ

มาตรฐานการทำโพล (Polling Standards)

มาตรฐานคือข้อกำหนดของคุณภาพที่พึงประสงค์ มาตรฐานการทำโพลจึงเป็นข้อกำหนดของคุณภาพที่พึงประสงค์ของการสำรวจ ความคิดเห็น ความเชื่อ เจตคติ หรือพฤติกรรมทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ หรือการเมืองของสาธารณชน เพื่อให้การทำโพลมีความน่าเชื่อถือถูกต้องตรงความเป็นจริงทางสังคม โพลมาตรฐานจึงต้องมีคุณภาพ หรือมาตรฐานครอบคลุมองค์ประกอบสำคัญของการทำโพลดังต่อไปนี้

  •  มาตรฐานการวางแผนการสำรวจ
  •  มาตรฐานการออกแบบสำรวจ
  •  มาตรฐานการสร้างแบบสำรวจ
  •  มาตรฐานการเก็บรวบรวมข้อมูล
  •  มาตรฐานการวิเคราะห์ข้อมูล
  •  มาตรฐานการรายงานผล

นอกจากนี้ ผู้รับผิดชอบการทำโพลจะต้องดำรงสถานะความเป็นกลางทางการเมืองไม่ใช่ความเชื่อ ความนิยม หรือผลประโยชน์ส่วนตัวมาเกี่ยวข้องกับการทำโพล

ประโยชน์ และข้อจำกัดของทำโพล

สำหรับข้อมูลที่นักวิชาการทำโพลได้มาจากการสำรวจ อาจจะเป็นเพียงแค่ภาพปรากฏทางสังคม (social phenomena) ไม่ใช่ “ความเป็นจริงทางสังคม” (social reality) ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ไม่ควรปฏิเสธหรือมองข้ามผลสำรวจจากโพลโดยสิ้นเชิง เพราะโพลมีประโยชน์ในฐานะที่สำรวจมาจากตัวอย่าง (sample survey)  ซึ่งถ้ามีกระบวนการเลือกตัวอย่างที่เป็นตัวแทนที่ดีของประชากรเป้าหมาย  และมีการควบคุมคุณภาพการสำรวจอย่างดี ผลสำรวจจากตัวอย่างจะเป็นประโยชน์และมีคุณค่า

การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติ

          การวิเคราะห์ข้อมูลของโพล จะใช้สถิติตามมาตรวัดนามบัญญัติ (มากที่สุด – น้อยที่สุด)  สถิติพื้นฐาน คือ แจกแจงความถี่  (Frequency Distribution) การคิดอัตราร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean Score) โดยมีรายละเอียดครอบคลุมผลการวิเคราะห์ดังนี้

          (1) ประมวลผลจากแบบสอบถาม โดยใช้ค่าสถิติและนำผลที่ได้มาวิเคราะห์ตามขอบเขตการสำรวจ

          (2) รายงานผลโดยแสดงจำนวนร้อยละของกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ รวมทั้งการแจกแจงความถี่ของข้อมูลในรูปแบบของงานวิจัย

          (3) สรุปประเด็นความเห็น ข้อเสนอแนะ ความต้องการและความคาดหวัง ความภักดีของลูกค้าจากข้อคำถามปลายเปิด

          (4) รายงานผลเชิงวิเคราะห์ (Correlation/Regression Analysis) เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ ความพึงพอใจ/ความไม่พึงพอใจ หรือความผูกพันของลูกค้า เทียบกับหัวข้อโดยเรียงลำดับมากที่สุด – น้อยที่สุด

          (5) วิเคราะห์จุดเด่นและจุดที่ควรปรับปรุง รวมทั้งการวิเคราะห์ผลเพื่อให้ทราบถึงความต้องการ ความคาดหวัง ความต้องการ และข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังได้อย่างถูกต้อง และสามารถวางแผนดำเนินงาน พร้อมทั้งจัดสรรทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม

สรุปงานวิจัยและบทความที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ (โพลสาธารณะ) หรือในประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจ

การทำโพล เป็นการสำรวจความคิดเห็น ความเชื่อ เจตคติ หรือพฤติกรรมทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ หรือการเมืองของสาธารณชน การทำโพลจึงจัดเป็นประเภทหนึ่งของการวิจัยเชิงสำรวจ ซึ่งการวิจัยเชิงสำรวจมีขั้นตอนของการดำเนินงาน 6 ขั้นตอน ได้แก่ ตั้งชื่อหัวข้อเรื่อง และประเด็นการสำรวจ กำหนดวัตถุประสงค์ ออกแบบการสำรวจ (กำหนดประชากร/แผนการสุ่มตัวอย่าง กำหนดขอบเขตเนื้อหาสาระที่ต้องการสำรวจ/สร้างแบบสำรวจ กำหนดวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล/การวิเคราะห์ข้อมูล) เก็บรวบรวมข้อมูลจัดเตรียมข้อมูล ลงรหัสและวิเคราะห์ข้อมูล จัดทำรายงานและเผยแพร่ผลการสำรวจ  โดยตัวอย่างของการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ (โพลสาธารณะ) หรือในประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจ มีดังต่อไปนี้

สวนดุสิตโพล: ทำอย่างไร คนไทยจึงจะเอาชนะโควิด-19 ได้

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “ทำอย่างไร คนไทยจึงจะเอาชนะโควิด-19 ได้” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,744 คน สำรวจวันที่ 28 มิ.ย. – 1 ก.ค. 2564 พบว่า ส่วนใหญ่เห็นว่าโควิด-19 ทำลายเศรษฐกิจ คนตกงาน อยู่อย่างลำบาก ร้อยละ 91.95 การแก้ปัญหาของรัฐบาลยังไม่ถูกทาง ร้อยละ 66.05 ควรเร่งจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ ให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ร้อยละ 87.25 อยากให้กรมควบคุมโรคเข้ามาเป็นผู้นำในการบริหารจัดการ ร้อยละ 67.04 อยากเห็นนักการเมืองทุ่มเททำงาน คำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ร้อยละ 86.84 ในวันที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อทำสถิติสูงสุด (New high) ภาพประชาชนคนธรรมดาเฝ้ารอเตียงมากขึ้น และจำนวนคนตัดสินใจจบชีวิตมีอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินในภาวะโควิด-19 แบบ Single Command ไม่ได้ผลที่ดีเท่าใดนัก แม้จะบริหารงานแบบเน้นความยืดหยุ่น แต่ประชาชนกลับรู้สึกว่านั่นเป็นการบริหารแบบไม่วางแผนเสียมากกว่า ณ วันนี้จึงควรหยุดเล่นเกมการเมือง ให้อำนาจเต็มกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำเข้าวัคซีนที่มีคุณภาพ ใช้มาตรการเยียวยาถ้วนหน้า ดูแลทั้งภาคธุรกิจและประชาชนอย่างทั่วถึงเพื่อให้การบริหารครั้งนี้ไปถูกทางโดยเร็ว[3]

“ซูเปอร์โพล” เผย ปชช. เห็นว่าทางรอดในช่วงโควิด คนไทยทุกภาคส่วนต้องช่วยเหลือและ                ให้กำลังใจในการแก้ปัญหา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ทางรอด ทางร่วง ช่วงโควิด กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศจำนวน 1,118 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 – 14 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา  เมื่อถามถึง “ทางรอด” ช่วงโควิด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.4 ระบุ ทางรอดคือ คนไทยและทุกภาคส่วนต้องรู้หน้าที่ มีน้ำใจช่วยเหลือกันให้กำลังใจกันแก้ปัญหา เหมือนช่วงวิกฤตชีวิตหมูป่าที่ถ้ำหลวง รองลงมาคือร้อยละ 92.9 ระบุ คนในสังคมต้องสร้างสรรค์ ไม่สร้างความเกลียดชังกันในหมู่ประชาชน ร้อยละ 90.0 ระบุ ต้องปฏิรูประบบราชการ ช่วยเหลือประชาชนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.5 ระบุ มีพระมหากษัตริย์ทรงช่วยเหลือประชาชนเสมอในทุกยามวิกฤต ร้อยละ 87.1 ระบุ ภาคการเมืองและภาคราชการ ต้องถูกตรวจสอบและโปร่งใสมากขึ้น ไม่ฉกฉวยผลประโยชน์จากประชาชนและวิกฤตชาติ ร้อยละ 72.0 ระบุ ทำให้คนไทยรู้ว่า รับวัคซีนไปช่วยป้องกันการเสียชีวิต แต่ยังคงติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ ร้อยละ 64.9 ระบุ คนไทยควรติดตามสถานการณ์วิกฤตโควิด ประเทศต่าง ๆ ด้วย เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อเสียชีวิตและผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้น และร้อยละ 64.1 ระบุ เรียนรู้ปรับตัวแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้อง เพิ่มรายได้ครอบครัว[4]

นิด้าโพล” เผยผลสำรวจการบริโภคของประชาชนในช่วง โควิด-19 ระบุ 61.51% รายได้แย่ลง

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การบริโภคอาหารในช่วง โควิด-19 ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15 – 16 มิ.ย. 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,273 ตัวอย่าง เกี่ยวกับการบริโภคอาหารในช่วง โควิด-19 เมื่อถามถึงรายได้ในช่วงการแพร่ระบาดของ โควิด–19 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.51 ระบุว่า แย่ลง รองลงมา ร้อยละ 37.00 ระบุว่า เหมือนเดิม และร้อยละ 1.49 ระบุว่า ดีขึ้น

ส่วนความเพียงพอต่อการใช้จ่ายของรายได้ในปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 17.91 ระบุว่า เพียงพอ ร้อยละ 16.03 ระบุว่า ค่อนข้างเพียงพอ ร้อยละ 33.46 ระบุว่า ไม่ค่อยเพียงพอ  ร้อยละ 32.13 ระบุว่า ไม่เพียงพอเลย และร้อยละ 0.47 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ ด้านความกังวลต่อเงิน/รายได้ หรือทรัพยากร สำหรับการบริโภคอาหารที่จำเป็น พบว่า ร้อยละ 21.13 ระบุว่า มีความกังวลมาก ร้อยละ 38.18 ระบุว่า ค่อนข้างมีความกังวล ร้อยละ 23.80 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกังวล ร้อยละ 16.65 ระบุว่า ไม่มีความกังวลเลย และร้อยละ 0.24 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ[5]

โพล (Poll) คืออะไร? ทำไมคนฮิตทำโพลออนไลน์

ในปัจจุบันแบบสำรวจออนไลน์ (Online Survey) และโพล (Poll) มีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากผู้สำรวจต้องการสำรวจประชากรขนาดใหญ่ ซึ่งเจ้าของเว็บไซต์ส่วนใหญ่ได้เข้าใจบทบาทสำคัญของโพล จึงนำการสำรวจมาเพิ่มลงในเว็บไซต์ เพื่อให้ลูกค้าหรือผู้เข้าชมเว็บไซต์ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น หรือให้ข้อเสนอแนะที่เจ้าของเว็บไซต์ต้องการ โพลออนไลน์ หรือการสร้างแบบสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ ทำให้เราสามารถสร้างโพลได้ง่าย ๆ และเข้าถึงกลุ่มตัวอย่างบนออนไลน์ได้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากผู้คนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และใช้งานอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น ดังนั้นโพลออนไลน์จึงถูกนำมาใช้                     เพื่อสำรวจความคิดเห็นในช่วงเวลาสั้น ๆ กับกลุ่มตัวอย่างบางกลุ่มเท่านั้นบนออนไลน์ ตัวอย่างเช่น สร้างโพลด้วย Google Forms ผู้ใช้สามารถแบ่งปันลิงก์ หรือคัดลอกลิงก์ส่งให้เพื่อน ๆ บนออนไลน์ได้ รวมถึงเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันสร้างโพลออนไลน์อื่น ๆ เป็นต้น ด้วยโพลเหล่านี้จะมีการสรุปผล และรายงานข้อมูลเชิงสถิติออกมาให้เราได้เห็น โดยที่เราไม่ต้องมานั่งกรอกข้อมูลด้วยตนเอง เพิ่มความสะดวก ประหยัดเวลา และประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับผู้สำรวจ[6]

CSCD Peace Survey 2015: เสียงประชาชนชายแดนใต้/ปาตานี

สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในงานวิจัยชื่อ “การสำรวจแนวโน้มทัศนคติของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบ ความยุติธรรม ปัญหาสังคม และการสร้างสันติภาพ” โดยทำการสุ่มตัวอย่างจำนวน 2,104 ตัวอย่าง จากพื้นที่ 302 หมู่บ้าน/ชุมชน 83 ตำบล 19 อำเภอ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โครงการสำรวจทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์จากผู้ให้คำตอบโดยตรง (face-to-face interview) โดยทีมเก็บข้อมูลภาคสนามที่ผ่านการอบรมการสัมภาษณ์มาแล้ว การลงภาคสนามดำเนินการในห้วงระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาส่วนใหญ่ในเดือนรอมฎอนตามปฏิทินอิสลาม[7]

Monmouth University Poll : Most Parents Support School Mask Mandate

Wednesday, Sept. 8, 2021

Majority of voters back UVA unvaxxed student disenrollment

West Long Branch, NJ – Two-thirds of Virginia voters, including parents of school-age children, support the state’s school mask mandate and many support Covid vaccinations for age-eligible children. The Monmouth (“Mon-muth”) University Poll also finds that a majority of voters back the University of Virginia’s decision to disenroll students who did not report their vaccination status. Gov. Ralph Northam  gets solid marks for his handling of the pandemic, but his overall job rating is somewhat lower. Virginia voters are divided on whether the commonwealth’s schools should be fully open for in-person instruction this year (43%) or should offer a mix of in-person and remote instruction (41%). However, just 12% say they should be fully remote. Among parents of children under 18 years old, 49% say schools should be fully in person, 38% prefer a hybrid model, and 12% want fully remote instruction.[8]


[1] ศิริชัย กาญจนวาสี. 2556. วารสารการวิจัยสังคมศาสตร์ ประจำปี 2556. สมาคมวิจัยสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย 

[2] สุวรา แก้วนุ้ย. โพล (Poll): เครื่องมือในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ. 1 มกราคม 2559. https://deepsouthwatch.org/node/7933

[3] อาร์ วาย ที นาย (RYT9). 2564. สวนดุสิตโพล: ทำอย่างไร คนไทยจึงจะเอาชนะโควิด-19 ได้. https://www.ryt9.com/s/sdp/3236579 (8 กันยายน 2564)

[4] มติชนออนไลน์. 2564. “ซูเปอร์โพล” เผยปชช.เห็นว่าทางรอดในช่วงโควิด คนไทยทุกภาคส่วนต้องช่วยเหลือและให้กำลังใจในการแก้ปัญหา. แหล่งที่มา

https://www.matichon.co.th/politics/news_2885994 (8 กันยายน 2564)

[5] พีพีทีวี เอชดี 36. 2563. นิด้าโพล” เผยผลสำรวจการบริโภคของประชาชนในช่วง โควิด-19 ระบุ 61.51% รายได้แย่ลง. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/127839 (8 กันยายน 2564)

[6] Advanced Research Group. 2561. โพล (Poll) คืออะไร? ทำไมคนฮิตทำโพลออนไลน์. https://www.ar.co.th/kp/th/439. (8 กันยายน 2564)

[7] สุวรา แก้วนุ้ย. 2559. โพล. (Poll): เครื่องมือในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ. https://deepsouthwatch.org/node/7933. (8 กันยายน 2564)

[8] Monmouth University Poll. 2021. Most Parents Support School Mask Mandate. https://www.monmouth.edu/polling-institute/reportr/monmouthpoll_va_090821/. (8 กันยายน 2564)